ปัญหาโลกร้อนนั้น กำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสภาพภูมิอากาศของโลก ที่จริง.. อาจจะหมายถึงส่งผลกระทบต่ออนาคตของมนุษยชาติซะด้วยซ้ำ แม้ว่าหลายฝ่ายเริ่มตื่นตัวกับปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง แต่ก็ต้องยอมรับว่า มนุษย์กำลังเข้าใกล้จุดที่ไม่อาจย้อนกลับ (Point of No Return) แล้ว หากไม่ช่วยกันรักษ์โลกอย่างจริงจัง
โดยหนึ่งในผลกระทบของโลกร้อนที่นักวิทยาศาสตร์ต่างจับตามองมากที่สุด คือแผ่นน้ำแข็งขนาดมหึมาที่บริเวณขั้วโลก มีการคาดการณ์กันว่า หากน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือละลายหมด จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 5 เมตรเลยทีเดียว

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์กำลังจับตามมองเป็นพิเศษบริเวณธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงทิเบต โดยจากการสำรวจพบว่า ที่ธารน้ำแข็งแห่งนี้ มีจุลลินทรีย์โบราณมากกว่า 900 สายพันธุ์และไม่เคยถูกค้นพบมาก่อนได้ถูกแช่แข็งไว้ ซึ่งจากการวิเคราะห์จีโนมของจุลินทรีย์บางชนิด พบว่า มันมีศักยภาพมากพอที่จะทำให้เกิดการระบาดครั้งใหม่ หากปัญหาโลกร้อนส่งผลกระทบให้ธารน้ำแข็งละลาย
การศึกษานี้ ดำเนินโดยนักวิจัยจาก Chinese Academy of Sciences ที่ออกสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำแข็งจากธารน้ำแข็ง 21 แห่งบนที่ราบสูงทิเบต โดยทีมงานได้เรียงลำดับ DNA ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ถูกขังอยู่ในน้ำแข็ง และนำมาสร้างเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของจีโนมจุลชีพ โดยพวกเขาตั้งชื่อว่า Tibetan Glacier and Gene (TG2G)

ซึ่งจุลลินทรีย์ทั้งหมดนั้นมี 968 ชนิดที่ถูกแช่แข็งในน้ำแข็ง ส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรีย และมีสาหร่าย, อาร์เคีย และเชื้อราด้วย โดยทีมงานได้รายงานและตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Biotechnology วันที่ 27 มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่น่าตกใจกว่าคือ 98% ของจุลลินทรีย์ชุดนี้ ยังไม่เคยตรวจพบมาก่อน
นักวิจัยยังไม่แน่ใจว่า อายุของจุลลินทรีย์เหล่านี้เป็นเท่าไหร่ แต่มีความเป็นไปได้ว่า จะมีอายุมากกว่า 10,000 มาแล้ว และบางชนิดนั้นอาจจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังเผยว่า โดยปกติแล้ว แบคทีเรียที่อาจจะก่อให้เกิดโรคนั้น จะไม่สามารถอยู่รอดได้นานหลังจากหลุดออกมาจากการละลายของธารน้ำแข็ง อย่างไรก็ตาม พวกมันก็ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาได้ โดยตัวแบคทีเรียนั้นจะมีความสารถในการแลกเปลี่ยนดีเอ็นเอส่วนใหญ่ของพวกมันได้ ดังนั้น แม้ว่าแบคทีเรียในน้ำแข็งจะตายหลังจากหลุดออกมาได้ไม่นาน แต่พวกมันยังสามารถถ่ายทอดองค์ประกอบทางพันธุกรรมเคลื่อนที่ (MGEs) ไปยังแบททีเรียอื่นๆได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ราบสูงทิเบตนั้นเป็นต้นทางของแม่น้ำที่สำคัญหลายสาย ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำแยงซี แม่น้ำเหลือง แม่น้ำคงคา ซึ่งอยู่ในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีน, อินเดีย ทำให้เมื่อไหร่ที่มีจุลลินทรีย์อันตรายหลุดลงสู่แม่น้ำนั้น อาจจะก่อให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่อีกได้
ที่มา : https://www.livescience.com