เราอาจจะเคยได้ยินหรือดูหนังไซไฟที่พูดถึงวัตถุชิ้นเล็กๆที่เรียกว่า ‘นาโนบอท’ ที่สามารถเคลื่อนไปในร่างกายได้อย่างอิสระพร้อมกับการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ตอนนี้ ต้องบอกว่า มนุษย์เรากำลังเข้าใกล้ความจริงกับจินตนาการในภาพยนต์ไซไฟเหล่านั้นเข้าทุกทีแล้ว เพราะตอนนี้ นักวิจัยนั้นประสบความสำเร็จในการทดลองให้นาโนบอทจัดการกับแบททีเรียที่อยู่ในแผลสดได้สำเร็จ

โดยซามูเอล ซานเชช นักเคมีจากสถาบัน Bioengineering of Catalonia ในบาร์เซโลนา ประเทศสเปนนั้น ได้ใช้เวลากว่าทศวรรษในการวิจัยและพัฒนานาโนบอทนี้ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ มันจะสามารถบรรทุกสิ่งของที่มีประโยชน์ เช่น ยารักษามะเร็ง หรือ ยาปฏิชีวนะผ่านทางของเหลวในร่างกาย ซึ่งทำให้ยาเหล่านั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ซานเชชนั้นได้แสดงตัวอย่างของนาโนบอทดังกล่าวให้ดู โดยมีลักษณะเป็นอนุภาคซิลลิกาทรงกลมขนาดเล็กทำหน้าที่เป็นโครงสร้างหลัก และสามารถติดตั้งโปรตีนชนิดพิเศษที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนอนุภาคนี้ให้เคลื่อนที่ไปตามของเหลวในร่างกาย หรือหากจะพูดอีกอย่าง โปรตีนชนิดนี้จะทำหน้าที่เหมือนมอเตอร์ขนาดเล็กนั่นเอง

ซานเชชได้ทดลองนาโนบอทนี้ โดยการนำไปบรรจุยาปฏิชีวนะเข้ากับตัวนาโนบอท และนำไปทดลองรักษาบาดแผลที่ติดเชื้อในหนู ผลปรากฏว่า นาโนบอทสามารถรักษาบาดแผลด้านหนึ่งของหนูได้ ซึ่งนับเป็นรายงานฉบับแรกของโลกที่นาโนบอทสามารถจัดการกับแบททีเรียในบาดแผลของสัตว์ได้
“เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า บาดแผลทั้งหมดนั้นได้เริ่มฟื้นฟูขึ้นมาเรื่อยๆ เจ้านาโนบอทนี้สามารถเดินทางไปทั่วบาดแผลและจัดการกับการติดเชื้อที่ทุกที่ๆมันเดินทางไปถึง” ซีซาร์ เดอ ลา ฟูเอนเต้ วิศวกรชีววิทยาอีกคนจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียที่ทำโปรเจ็คร่วมกับซานเชชบอก

นี่เป็นจุดสำคัญมาก เพราะโดยปกติแล้ว ประสิทธิภาพของยานั้นจะขึ้นอยู่กับกระบวนการแพร่กระจายตัวของยา ว่าจะสามารถเดินทางไปถึงจุดที่มีปัญหาในร่างกายได้มากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกยาปฏิชีวนะและเคมีต่างๆนั้น มักจะเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก พวกมันจะเคลื่อนที่ไปตามของเหลวในร่างกายตามแต่ที่มันอยากจะไป และนี่คือสาเหตุที่ว่า ทำไมยาเหล่านี้ถึงต้องการนาโนบอทที่ทำหน้าที่เหมือนมอเตอร์หรือยานพาหนะในการลำเลียงยาไปสู่จุดที่จะทำการรักษานั่นเอง