ปัจจุบันนี้ สินค้าแบรนด์เนมนั้นเป็นตลาดที่มีการทำกำไรกันสูงมาก บางชนิดสินค้าและบางยี่ห้อนั้น ราคาก็ขึ้นทุกปี แม้ว่าจะเป็นมือสองก็ตาม ทำให้บางครั้ง มันมีมูลค่าของการทำไรที่สูงกว่าทองคำเลยทีเดียว นี่เป็นสาเหตุว่า ทำไมเรามักจะเห็นสาวๆชอบซื้อของแบรนด์เนมมาเก็บไว้กัน และแน่นอนว่า เมื่อปริมาณการจับจ่ายสูงขึ้น มูลค่าทางการตลาดเยอะขึ้น ก็อาจจะเป็นช่องโหว่ให้ผู้ไม่หวังดีนั้นอาศัยจุดนี้มาเอาเปรียบได้เช่นกัน เช่น การซื้อของก้อปแล้วเอามาขาย หรือแอบอ้างว่าเป็นสินค้าของแท้ เป็นต้น
จนกระทั่งมีคนคิดค้นวิธีตรวจสอบว่า สินค้าตนเองนั้นเป็นของแท้หรือของก้อป โดยการเอาให้ร้านแบรนด์นั้นๆตรวจสอบนั่นเอง อย่างไรก็ตาม นโยบายแทบทุกร้านที่มีเหมือนๆกัน คือการปฏิเสธการบอกตรงกับลูกค้าว่า สินค้าของเรานั้นไม่ใช่ของแท้
ปลอม 100% ค่ะ คุณพี่ไปซื้อมาจากที่ไหนคะ
หากคุณได้ฟังประโยคนี้จากปากพนักงานชอปแบรนด์เนมที่มีราคาชวนขนลุก จากการขอให้พนักงานช่วยตรวจสอบสินค้าแบรนด์เนมที่คุณบังเอิญไปได้ ‘ราคาดี‘ มาจากนอกชอป เรามาลองจินตนาการถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกัน
ภาพแรก คุณสามารถห้ามตัวเองให้ไม่หัวเสียจนถึงขั้นกลับไปเอาเรื่องกับทางร้านนอกชอปแท้ที่ซื้อมาโดยยกอ้างอิงจากคำให้การณ์ของพนักงานชอปได้ไหม ?
ภาพต่อมา หากราคาอาจเป็น 6–7 หลัก คุณจะยั้งตัวเองไม่ให้ลุกลามใหญ่โตจนถึงขั้นฟ้องร้องรึเปล่า ?
นจึงเป็นเหตุผลของนโยบายชอปแบรนด์เนมที่ไม่อนุญาตให้พนักงานฟันธงให้ชัดเจนหลังตรวจสอบ สินค้าที่ไม่ได้มาจากทางร้านว่าเป็นของแท้ หรือของเทียบ เพราะคำให้การณ์ของพนักงานจะเป็นผลต่อรูปคดีเป็นหลักที่อาจทำให้พนักงาน หรือร้านต้องติดหางเร่ไปโดยใช่เหตุ
นอกจากนี้ด้วยสินค้าแบรนด์เนมนั้นมีดีเทลที่ยิบย่อย มีหลากหลายคอลเลคชั่นในแต่ละช่วงปี ทำให้พนักงานอาจไม่ชำนาญการในทุกรุ่น ทุกแบบ การไม่ตกปากฟันธงเป็นการป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากตัวร้านเองด้วย
แบบนี้จะมีวิธีรู้ได้ยังไงว่าของแท้ ?
หากพูดแบบกำปั้นทุบดินก็คงต้องบอกว่าการซื้อสินค้าจากชอปแบรนด์เนมโดยตรงจะช่วยทำให้ทั้งการลงทุนและลงใจของคุณไม่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดหวัง ทั้งยังมีบริการตอบทุกคำถามอย่างดีเยี่ยม
แต่หากคุณได้ราคามาดีมากจริง ๆ จากนอกชอปเท่านั้น ก็ยังมีวิธีที่พนักงานจากชอปจะส่งสัญญาณบอกเราได้ด้วยวิธีดังนี้
1.นำสินค้ามาวางข้างกันแบบชัดๆ
การนำสินค้ารุ่นเดียวกันนั้นมาวางเปรียบเทียบกันแบบชัด ๆ ให้คุณได้ตัดสินด้วยตาของตนเองว่าสินค้านั้นปลอมหรือแท้โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือแสดงความคิดเห็น
2.ร้านปฏิเสธการทำความสะอาด
วิธีที่นิยมอีกวิธี เพราะเสมือนการจ้างให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบให้คือ ทดลองนำสินค้าส่งเข้าร้านทำความสะอาดสินค้าแบรนด์เนมโดยผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือได้หากทางร้านประเมินสภาพแล้วปฏิเสธที่จะดูแลให้อาจเป็นลางนัย ๆ ว่าเจอของปลอมเข้าซะแล้ว
ดังนั้น การไม่ฟันธงว่าสินค้านั้นเป็นของแท้ หรือของปลอมไม่ใช่ว่าเป็นลับลมคมในของทางพนักงานชอปที่บอกไม่ได้แต่เป็นการปกป้องพนักงานและแบรนด์เอง เพราะพนักงานมีสิทธิ์ที่จะไม่พูด แต่ถ้าพูด คำพูดของเขาเองอาจจะถูกนำไปใช้ในชั้นศาล!